ประเด็นร้อน

งบประมาณแสนล้านกับผลงาน (ไร้ค่า)

โดย aCT โพสเมื่อ Apr 20,2017

 เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งไปเป็นประธานเปิดงานรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สำโรง อันเป็นหนึ่งในแผนงานลงทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมในปี 2560 ซึ่งตลอดปีงบประมาณ 2560 กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบมากถึง 154,425,875,900 บาท มากกว่าเกือบทุกกระทรวง เป็นรองแค่กระทรวงมหาดไทยที่ได้รับงบฯไปถึง 3 แสนกว่าล้านบาท และถ้าเทียบงบฯกับกระทรวงวัฒนธรรม จะพบว่างบของกระทรวงคมนาคมมากกว่าเกือบ 39 เท่าเลยทีเดียว!!! และเอาเข้าจริงกระทรวงคมนาคมก็ผูกพันกับโครงการต่างๆที่นายกฯพูดโชว์มาตลอดว่า จะมีโครงการนั้น โครงการนี้ แต่สุดท้ายกลับยังไม่มีโครงการใหญ่ใดๆ เกิดขึ้นให้เราเห็นเลย!!!

          
ด้วยงบประมาณที่ได้รับอัดฉีดจากรัฐบาลมหาศาลในแต่ละปี แถมพลิกไปดูตั้งแต่ปี 2547 งบฯที่กระทรวงคมนาคมได้รับก็ยังเพิ่มขึ้นทุกปี ยกเว้นปี 2551 และ 2553 ในยุคอภิสิทธิ์ที่ได้รับน้อยลง และตั้งแต่ปี 2547 อันเป็นช่วงที่รับรู้กันดีว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนเมกะโปรเจกท์มากมายในยุคทักษิณ ซึ่งมาพร้อมกับกระแสข่าวทุจริตมากมายเช่นกัน ใช่หรือไม่? แต่ยังเทียบไม่ได้กับปัจจุบันที่งบฯของกระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรมากขึ้นถึง 1 แสนกว่าล้านบาท และแม้เราจะไม่เห็นเมกะโปรเจกท์เกิดขึ้นอีกเลย แต่กลับพบว่างบฯก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใช่หรือไม่? ยิ่งเฉพาะ 3 ปีหลังนี้ที่เป็นยุคปราศจากนักการเมืองที่สังคมมองว่า เป็นตัวการใหญ่ของการทุจริต กลับพบว่า งบฯกระทรวงคมนาคมเด้งขึ้นมากกว่าเดิมเกือบ 5 หมื่นล้าน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของงบฯที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ในที่นี้ยังไม่นับรวมงบมหาศาลของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคม
          
ที่สำคัญอย่าลืมว่า กระทรวงคมนาคมยังเป็นหน่วยงานรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนและมีอำนาจมากที่สุดกระทรวงหนึ่งพอๆกับมหาดไทย เพราะมีทั้งอำนาจการจับกุมหรือไม่จับกุม อำนาจในการอนุญาต อำนาจในการตรวจสอบหรือไม่ตรวจสอบ อำนาจในการรื้อค้นหรือไม่รื้อค้น อย่างกรมการขนส่งทางบกที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดในการขับขี่ได้ทุกประเภท ใช่หรือไม่?
          
จึงไม่แปลก หากมีคนบอกว่า เป็นกระทรวงเกรด AAA ที่มีทั้งงบประมาณสูงสุดและมีอำนาจมากที่สุดกระทรวงหนึ่ง ที่ผู้มีอำนาจอยากมานั่งมากที่สุด เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ เพียงแต่กระทรวงทริปเปิ้ลเออย่างศึกษาธิการนั้นงบส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดสรร มักเป็นงบบุคลากรที่เป็นครูและงบพัฒนานักเรียน ใช่หรือไม่? ส่วนมหาดไทยที่ได้รับงบฯมากถึง 3 แสนกว่าล้าน ก็พบว่าไม่เบาเช่นกัน แม้งบส่วนหนึ่งไปลงท้องถิ่น แต่ก็พบว่ามีงบที่กระจายลงไปสู่โครงการต่างๆจำนวนมากเช่นกัน แต่หลายคนตั้งคำถามว่าไม่พบ ร่องรอยของโครงการที่เป็นรูปธรรมเลย? นอกจากนี้ ปัญหาทางภาคใต้ก็ยังแก้ไขไม่ได้ แผนงานปรองดองที่ทุกวันนี้ ย่อมรู้กันดีว่า สังคมเกิดการปรองดองแท้จริงหรือยัง? หรือแผนงานปราบปรามทุจริต ถามว่ามีกลไกใดสำเร็จเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้หรือไม่? แล้วเช่นนี้งบฯกว่า 3 แสนล้านของมหาดไทย ประชาชนได้สิ่งใดบ้าง?
          
แต่โจทย์หลักของเราวันนี้คือ งบฯกระทรวงคมนาคมที่มากคือ งบค่าดำเนินโครงการต่างๆ หลายพันหลายหมื่นโครงการแต่ละปี ซึ่งแทบทุกโครงการล้วนต้องมีการประมูลงาน จัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาทั้งสิ้น ตรงนี้นับเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมจับตามาตลอดถึงความโปร่งใสของกระบวนการต่างๆ เหล่านี้!!! ที่สำคัญแม้งบประมาณ อำนาจและโครงการเมกะโปรเจกท์มากขึ้นทุกปี แต่กลับพบว่าปัญหาในกระทรวง ทั้งปัญหาภายในว่าด้วยเรื่องบุคลากรทั้งระดับฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายบอร์ด กับปัญหาภายนอกกระทรวงที่สังคมสะท้อนเป็นคำวิจารณ์ต่างๆ กลับไม่ได้น้อยลง หนำซ้ำดูจะมากขึ้นด้วยใช่หรือไม่?
          
ไล่ตั้งแต่ปัญหาภายในกระทรวง เริ่มจากตัวบุคลากรซึ่งทุกคนคงจำกันได้ดีกับข่าวโจรบุกปล้นบ้านอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมรายหนึ่ง ที่ผู้ต้องหารับสารภาพว่า พบเงินมหาศาลมากกว่า 500 ล้านบาทอยู่ในบ้าน ไม่นับทองรูปพรรณ เครื่องเพชรและทรัพย์สิน อื่นๆ ซึ่งแทนที่จะเกิดคำถามว่าผู้ต้องหาคือใคร? แล้วนำเงินที่ได้ไปทำอะไร? แต่สังคมกลับเกิดข้อสงสัยในทางตรงกันข้ามว่า ถ้าคำบอกเล่าของผู้ต้องหาเป็นเรื่องจริง เหตุใดปลัดกระทรวงเกรดทริปเปิ้ลเอ จึงมีเงินอยู่ในบ้านมากขนาดนั้น? แล้วถ้านับเงินในบัญชีหรือเงินที่อยู่ในรูปทรัพย์สินอื่นๆ จะมีมากเพียงใด? แล้วเงินมหาศาลนี้มาจากไหน? เพราะลำพังเงินเดือนปลัดกระทรวง ไม่น่าจะมากพอมีเงินขนาดนี้ ใช่หรือไม่? ทั้งหมดเป็นภาพลักษณ์ที่ประชาชนภายนอกมองบุคลากรกระทรวงคมนาคมแล้วคิดเช่นนี้มาตลอดจนปัจจุบัน ใช่หรือไม่? ยังไม่นับรวมกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่อาจเชื่อมโยงบุคลากรรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคม
          
และแม้ปัจจุบันมีความพยายามปรับปรุงการทำงานบุคลากรในกระทรวงให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น เช่น การประมูลงานภาครัฐ ที่เปลี่ยนระบบเป็นการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์  E-Auction  แต่ก็เกิดคำถามจากสังคมว่า การประมูลนี้แก้ปัญหาทุจริตได้จริงใช่หรือไม่? ที่ผ่านมาเคยมีคนไปตรวจสอบบ้างหรือไม่ว่า เป็นอย่างไร? เหตุใดจึงมีกระแสข่าวหลุดมาทำนองว่า ตัวเลขแต่ละเจ้าที่ประมูลงานจากรัฐได้ จึงมีราคาต่างกันเพียงหลักพันแทบทุกเจ้าในการประมูลบางงาน ใช่หรือไม่? ยังไม่นับรวมเรื่องการจ้างที่ปรึกษาที่มีตัวเลขค่าจ้างกับความรับผิดชอบสวนทางกัน หรือนี่คือความผิดปกติ คือช่องโหว่ของกฎหมาย? หรือมีอะไรอยู่เบื้องหลัง? แม้ในทางกฎหมายอาจเป็นเรื่องที่ถูกต้องก็ตาม เพราะอย่าลืมว่า พ.ร.บ.ฮั้ว ก็ดี การตั้งป.ป.ช.ก็ดี ล้วนมีที่มาจากกรณีต่างๆที่เกิดขึ้นในกระทรวงคมนาคมหรือไม่?
          
เช่นนี้ควรหรือไม่ที่ต้องมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของบรรดาข้าราชการระดับสูง ให้ประชาชนได้รับรู้เหมือนนักการเมืองเพราะที่ผ่านมามีแต่การตรวจสอบแต่ไม่มีการเปิดเผย จึงไม่มีใครหรือมาตรการใดสามารถตรวจสอบหรือจัดการข้าราชการระดับสูงได้ จริงหรือไม่?แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำคดีที่ข้าราชการทุจริตเข้าสู่กระบวนการของศาลฎีกาฯ เช่นเดียวกับนักการเมือง เพื่อให้การตัดสินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นมาตรการกำจัดการทุจริตของข้าราชการไปในตัว?
          
ปัญหาของกระทรวงคมนาคมไม่ได้มีแค่เรื่องทุจริตหรือความไม่โปร่งใสในการทำงานเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีเรื่องอำนาจการตรวจสอบจับกุม ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรัง ใช่หรือไม่? จนหลายๆ คนถามว่าที่ผ่านมา ได้จัดการอะไรบ้างหรือยัง? ไล่ตั้งแต่ที่มีปัญหามากที่สุดอย่างเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารของรถแท็กซี่ เหตุใดจึงยังจัดการได้ไม่เบ็ดเสร็จเสียที? เหตุใดจ้องแต่จะจัดการกับรถโดยสาร อื่นๆ ที่ประชาชนอยากให้มี? ปัญหารถตู้ เหตุใดจึงเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก? เหตุใดประเทศไทยจึงมีสถิติเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากเป็นลำดับต้นๆของโลก? นำมาซึ่งคำถามว่า เรามีกรมขนส่งฯไว้ทำอะไร หรือเหตุใดถนนทางหลวงจึงพังบ่อยและซ่อมกันเกือบทุกปี? คำถามเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งข้อสงสัยที่ว่า งบประมาณที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้รับการจัดสรรปีละหลายหมื่นล้านเพื่อซ่อมแซมและสร้างถนนนั้น ได้ทำอะไรให้ประเทศดีขึ้นบ้าง? ปัญหาอยู่ที่งบหรือที่คนใช้งบ?
          
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องการส่งน้ำมันเถื่อน ปัญหาแรงงานเถื่อนที่ลักลอบโดยสารมากับรถเข้าประเทศ ที่ต้องถามกรมเจ้าท่าฯ เช่นเดียวกับกรณีบัตรโดยสาร BTS และบัตร MRT ถามว่าสามารถเชื่อมให้เป็นบัตรเดียวกันได้ตามที่ประชาชนต้องการหรือยัง? สนข.ตั้งมาทำอะไร? มอเตอร์เวย์ 3 สายใหญ่ที่เห็นจะลงทุนสร้างมาหลายปีแล้ว ก็ทำไม่ได้สักที เพราะมีข่าวว่าไม่มีใครสนใจร่วมประมูลงาน ใช่หรือไม่? แล้วเหตุใดประชาชนย่านประตูน้ำจึงยังประท้วงไม่ให้สร้างสถานีรถไฟฟ้าที่มีพื้นที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น จะไปไล่เวนคืนพื้นที่ประชาชนจำนวนมากเพื่อมาสร้างสถานีให้มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหญ่ๆทำไม? เป็นความต้องการของใครกันแน่?
          
ขณะที่แอร์พอร์ต ลิ้งค์ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ทำท่าจะไปไม่รอด ใช่หรือไม่? ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะเริ่มสร้าง มีการนำงบฯส่วนหนึ่งมาจ้างที่ปรึกษาเพื่อหาความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ แต่เมื่อโครงการ ทำท่าจะไปไม่รอด แล้วใครควรเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น? ขณะที่รัฐวิสาหกิจ เช่น การบินไทยและ ขสมก.เร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่า กระทรวงการคลังต้องขอกู้เงินเกือบ 2 พันล้านบาทมาพยุงการบินไทยใช่หรือไม่? ส่วนขสมก.ก็ขาดทุนทุกปีหลักหลายพันล้านบาท ซึ่งว่ากันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงจากการดำเนินนโยบายรถเมล์ฟรีที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัคร จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้มีข่าวว่า ขสมก.เตรียมจะปิดตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวแล้ว ใช่หรือไม่?
          
ปัญหาเหล่านี้ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในกระทรวงได้เข้าไปจัดการอะไรบ้างหรือยัง? นี่ยังไม่รวมถึงการมีอำนาจแต่ไม่ใช้อำนาจในการจัดการ แต่ผลักไปให้นายกฯจัดการอย่างเช่น การเสนอให้นายกฯใช้ม.44  กับปัญหารถตู้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่กระทรวงทำได้ แต่ก็ ไม่ได้ทำใช่หรือไม่?
          
ทั้งหมดคือผลงานตลอดหลายสิบปีของกระทรวงคมนาคมที่เดินสวนทางกับงบประมาณที่ได้รับ แถมยังสวนทางกับความต้องการประชาชนผู้จ่ายภาษีให้ และดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่จบสิ้น หรือนี่คือสิ่งที่สังคมต้องทำใจกับผลงานกระทรวงคมนาคม หรือถึงเวลาหรือยังที่จะต้องปฏิรูปยกเครื่องกระทรวงตั้งแต่ข้าราชการระดับสูงจนถึงระดับฝ่ายปฏิบัติ รวมถึงบอร์ดรัฐวิสาหกิจกระทรวงนี้ เพราะที่ผ่านมามีแต่คนแย่งกันนั่งกระทรวงนี้ แต่ผลงานของกระทรวงเกินเยียวยาแล้วจริงๆ...!!!
          
"ผู้ที่ติดค้างบุญคุณคนอื่น บางทีอาจยังปวดร้าวกว่าถูกติดค้างอีก"

- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 20 เมษายน 2560 - -